phattarawan On วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นางพญาเสือโคร่ง


      นางพญาเสือโคร่ง (Wild Himalayan Cherry) หรือดอกซากุระเมืองไทย มีลักษณะและความสวยงามเหมือนกับดอกซากุระของญี่ปุ่นมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วดอกนางพญาเสือโคร่งเป็นดอกไม้คนละสายพันธุ์กันกับดอกซากุระของญี่ปุ่น
       นางพญาเสือโคร่ง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus Cerasoides) เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไล่ไปจนถึงทางใต้ของจีน ไต้หวันและประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยพบมากที่ภูลมโลจังหวัดเลย ดอยแม่สลองจังหวัดเชียงราย ดอยเวียงแหง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายยอดเขาในจังหวัดน่าน โดยนางพญาเสือโคร่งมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น ฉวีวรรณ ชมพูภูพิงค์ เส่คาแว่ เส่แผ่ แส่ลาแหล และซากุระดอย
       ต้นนางพญาเสือโคร่ง นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับเป็นหลัก เนื่องจากมีดอกที่สีสันสวยงาม มีหลายสี เช่น สีชมพู สีขาว และสีแดง นอกจากนี้ผลของต้นนางพญาเสือโคร่งยังสามารถรับประทานได้ แต่มีรสเปรี้ยว จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม
       ลักษณะทางพันธุศาสตร์
ต้นนางพญาเสือโคร่ง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด โดยจะโตเต็มที่เมื่อมีอายุราว 10 ปี มีลักษณะใบเป็นแบบใบเดี่ยว รูปทรงรีและปลายแหลม ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ส่วนดอกของนางพญาเสือโคร่งที่พบมากจะมีอยู่ 3 สีคือ สีชมพู สีแดง และสีขาว มักออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น ประกอบไปด้วยกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ
      ความแตกต่างที่ชัดเจนของต้นนางพญาเสือโคร่งของไทยและต้นซากุระของญี่ปุ่นก็คือช่วงระยะเวลาออกดอก กล่าวคือ ต้นนางพญาเสือโคร่งจะออกดอกในช่วงหน้าหนาวของไทย คือในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนต้นซากุระญี่ปุ่นจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่นและฤดูร้อนของไทยนั่นเอง

      ที่มา: http://www.xn--12cg1cxchd0a2gzc1c5d5a.net/นางพญาเสือโคร่ง/

Leave a Reply

Subscribe to Posts | Subscribe to Comments